บล็อคเกอร์นี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนรายวิชา อินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเผยแพร่บทความทางธรรมที่มีผู้เขียนขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและให้กำลังใจสำหรับผู้ที่กำลังท้อถอยในชีวิต
วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554
ธรรมะกับชีวิต
ธรรมะกับชีวิตประจำวัน :: วิธีบรรเทาความโศก
ความโศกเป็นอาการอย่างหนึ่งของจิต เมื่อกระทบกับอารมณ์อันไม่พึงปรารถนา มีความเสียใจเป็นตัวนำ อันเกิดขึ้นเพราะความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง มีความเสื่อมญาติ เป็นต้น หรือเพราะต้องทุกข์ร้อนด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้มีอาการใจแห้งอยู่ภายใน คือ ขาดความชุ่มชื่นในดวงจิต เหมือนต้นไม้หรือใบไม้ที่เหี่ยวแห้ง เพราะขาดน้ำหรือถูกแดดแรงเกินไป อาการแห่งจิตดังกล่าวนี้แหละเรียกว่าความโศก หรือบางทีก็เรียกรวมว่า “เศร้าโศก”
ในชีวิตประจำวันนั้น มนุษย์ต้องต่อสู้กับเรื่องนานาประการ เรื่องการทำมาหากินเป็นเรื่องต้น และยังมีเรื่องยุ่งต่างๆ ซึ่งตามมาสารพัดอย่าง เช่น การต้องต่อสู้แข่งขันกันในพวกที่ทำมาหากินอย่างเดียวกัน หรืออาชีพเดียว กัน นอกจากนี้มนุษย์ส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในอำนาจของความอยาก ถูกบีบคั้นด้วยความปรารถนาจากภายในตนเองบ้าง เหตุการณ์ภายนอกบีบบังคับให้จำต้องปรารถนา เช่น ค่านิยมของสังคมบ้าง
คนส่วนใหญ่มักพ่ายแพ้ต่อความทะยานอยากที่บีบคั้นเข้ามา ทั้งจากภายในตนเองและจากภายนอก จึงต้องกระหืดกระหอบแสวงหาทรัพย์สิน แสวงหาเกียรติ ความนิยมชมชอบของสังคม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลาภ ยศ และสรรเสริญ เมื่อไม่ได้ดังใจปรารถนา หรือถูกขัดขวาง ก็มีการกระทบกระทั่ง แล้วกระเทือนใจ เสียใจ แล้วมีอาการแห่งผู้โศก อาจถึงต้องคร่ำครวญออกมา คือ การร้องไห้เพื่อระบายความทุกข์โศกที่อัดแน่นอยู่ในใจหรือความรู้สึก ถ้าได้ดังใจปรารถนาก็เพลิดเพลินหลงใหลติดอยู่ ข้องอยู่ในอารมณ์ เป็นเชื้อให้ไฟ คือ ความปรารถนาทวีรุนแรงขึ้นอีก ไม่รู้จักพอ เหมือนไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ ลงท้ายด้วยความทุกข์ความโศกอีก
จิตใจของคนส่วนใหญ่จึงเสมือนท่อนไม้ที่ลอยอยู่ในกระแสคลื่น ถูกคลื่นซัดสาดให้ลอยขึ้น จมลงอยู่ในกระแสคลื่นนั่นเอง คลื่น คือ โลกธรรม-ลาภ เสื่อมลาภ, ยศ เสื่อมยศ,สรรเสริญ นินทา,สุข ทุกข์ คอยซัดสาดท่อนไม้ คือ ดวงใจที่ไม่มั่นคงนั้นให้ฟูขึ้น ฟุบลง ไม่มีเวลาสงบนิ่ง ประเดี๋ยวก็ดีใจ ประเดี๋ยวก็เสียใจ
ส่วนผู้ที่มีจิตมั่นคงดีแล้ว แม้จะกระทบกับกระแสคลื่น คือ โลกธรรม ก็หาขึ้นลงตามโลกธรรมนั้นไม่ ผู้มี จิตมั่นคงดีแล้ว ย่อมมองดูโลกธรรมเป็นเพียงเรื่องผ่าน เข้ามาแล้วผ่านเลยไป ไม่นำตนไปผูกพันกับโลกธรรม และไม่นำโลกธรรมมาผูกพันกับตน ต่างก็เป็นอิสระแก่ กัน เมื่อโลกธรรมเกิดขึ้นก็กำหนดรู้ตามความเป็นจริงว่า มันเกิดขึ้นแล้วไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมดังที่พระศาสดาตรัสไว้ (ในโลกธรรมสูตร) ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้มิได้สดับ (ธรรมของพระอริยะ) เขามิได้สำเหนียก ด้วยดีว่า “บัดนี้ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เกิดขึ้นแล้วแก่เรา” เขาไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า “โลกธรรมนี้ไม่เที่ยง มี สภาวะบีบคั้น และมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา”
“เมื่อโลกธรรม ส่วนที่ไม่น่าปรารถนาเกิดขึ้นก็เหมือน กัน เขาไม่สำเหนียกและไม่รู้ตามความเป็นจริง โลกธรรม จึงครอบงำจิตได้ เขาย่อมยินดีเมื่อได้ ยินร้ายเมื่อเสีย เมื่อดีใจบ้างเสียใจบ้างอยู่เช่นนี้ เขาย่อมไม่พ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศกเสียใจพิไรรำพัน ความคับแค้นใจ กล่าวโดยย่อคือ ไม่อาจพ้นจากทุกข์ได้”
“ส่วนสาวกของพระอริยะผู้ได้สดับ (ธรรมของพระอริยะ) เมื่อโลกธรรมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดขึ้น เขาย่อม สำเหนียกได้ว่า บัดนี้ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เขารู้ตามความเป็นจริงว่า โลกธรรมนี้ไม่เที่ยง มีสภาวะบีบคั้น มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เมื่อรู้ตามความเป็นจริงอยู่ดังนี้ โลกธรรมก็ไม่อาจครอบงำจิตได้ เขาไม่ยินดีเมื่อได้ ไม่ยินร้ายเมื่อเสีย เมื่อเป็นดังนี้ก็ไม่ต้องดีใจบ้างเสียใจบ้าง จึงสามารถพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเศร้าโศก เสียใจ พิไรรำพัน ความคับแค้นใจ กล่าวโดยย่อคือสามารถทำตนให้พ้นจากความทุกข์ได้ นี่แลภิกษุทั้งหลายคือความแตกต่างกัน ความพิเศษกว่ากันระหว่างสาวกของพระอริยะผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้มิได้สดับ”
จะเห็นได้ว่าความเศร้าโศกเสียใจพิไรรำพันนั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความยึดมั่นในโลกธรรม เพราะความเขลาต่อความจริง ไม่รู้ตามความจริง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมิได้สดับธรรมของพระอริยะ ไม่ใส่ใจเนืองๆ ซึ่งธรรมของพระอริยะมีคุณภาพในการกำจัดโศก และกำจัดความหลงใหลมัวเมา
อีกประการหนึ่ง บุคคลทั่วไปเมื่อพิจารณาสิ่งใดก็มักพิจารณาในด้านคุณหรือด้านโทษแต่ประการเดียว คือ ดิ่งไปด้านใดด้านหนึ่ง ไม่พิจารณาให้เห็นทั้งด้านคุณและด้านโทษของสิ่งนั้นๆ จึงทำให้เขามีทางปฏิบัติเอียงสุดไปด้านใดด้านหนึ่งโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ วิ่งเข้าหา หรือผลักไส ชอบ ไม่ชอบ ยินดี ไม่ยินดี เป็นอาทิ ผลก็คือจิตของเขาไม่มีเวลาสงบนิ่งได้เลย คอยกังวลอยู่กับเรื่องพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง
ตัวอย่างคนที่แสวงหาลาภ ทรัพย์สินเงินทอง ก็เพ่งมองแต่ด้านคุณของทรัพย์สินเงินทองแต่ประการเดียว ไม่เคยนึกเฉลียวถึงด้านโทษของมันซึ่งมีอยู่เป็นอันมากเหมือนกัน เช่น บางคนต้องเสียชีวิตลงเพราะป้องกันทรัพย์ของตน บางคนต้องแตกจากมิตร บางคนต้องเสีย คนเสียความเป็นคนดี เพราะทะนงในทรัพย์สิน บางคนต้องคอยระวังรักษาไม่เป็นอันหลับนอน ฯลฯ เหล่านี้ล้วน เป็นโทษที่แฝงมากับการมีทรัพย์ทั้งสิ้น
ความเสื่อมลาภหรือเสื่อมทรัพย์นั้น คนทั้งหลายเป็น อันมากก็พากันเพ่งมองว่าไม่ดี แต่ความจริงมีดีอยู่เป็นอันมาก ทำให้ทรัพย์ภายในคือคุณธรรม เช่น ความขยันหมั่นเพียรเพิ่มขึ้น ไม่ใช้ชีวิตเหลวแหลกอย่างคนมีทรัพย์ บางคน มีความเจียมตัวเจียมใจ สุภาพอ่อนโยน เป็นเหตุ ให้เป็นที่รักของคนทั้งหลายผู้เข้าใกล้คบหาสมาคม มีศรัทธาในศาสนาเป็นแหล่งเพาะอุปนิสัยที่ดีให้แก่ตน ยิ่งกว่านั้นบางคนได้ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้แก่สังคมและชาติบ้านเมือง ก็เพราะเหตุที่ตนเป็นคนขัดสนทรัพย์ จำเป็นต้องทำงานหาทรัพย์มาเลี้ยงตนด้วยเรี่ยวแรงกำลัง ผลงานของเขาเป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป ยั่งยืนนานดีกว่า คนมั่งมีนั่งกินนอนกินแล้วตายไปโดยทิ้งศพของตนไว้ให้เป็นที่ลำบากแก่คนที่อยู่ข้างหลัง
ที่พูดถึงแง่เสียของการมีลาภและแง่ดีของความเสื่อม ลาภในที่นี้ก็เพื่อให้ผู้สนใจได้มองเห็นทั้งด้านคุณและด้านโทษของสิ่งๆ เดียว เพื่อจะได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับมันด้วยสติปัญญาอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไว้ว่า
“อาทีนวทสฺสาวี นิสฺสรณปฺณโญ ปริภุญฺชติ ถือเอาความว่า เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ด้วยการพิจารณาเห็นโทษ และมีปัญญาในการสลัดออก” คือ ไม่นำตนเข้า ไปผูกพันชนิดที่ถอนไม่ขึ้น แต่เข้าไปบริโภคใช้สอยอย่าง มีสติปัญญาโดยประการที่จะไม่ตกเป็นทาสของสิ่งนั้น ไม่ให้สิ่งนั้นย่ำยีเอาแล้วต้องคร่ำครวญว่า “ทุกข์หนอๆ” แต่ก็ยังกอดรัดสิ่งนั้นเอาไว้ ยึดสิ่งนั้นเอาไว้เหมือนที่ร้อง ว่า “ไฟร้อนหนอ” แล้วก็วิ่งเข้าหากองไฟครั้งแล้วครั้งเล่า ลองคิดดูเถิดว่าน่าสงสารสักเพียงใด
คนส่วนมากแสวงหา ลาภ ยศ และสรรเสริญด้วยคิด ว่า ถ้าได้มาก็จะทำให้ตนมีความสุขขึ้นเป็นผู้สมบูรณ์ขึ้น จะเป็นจริงดังนี้ได้ก็ต่อเมื่อผู้นั้นทำตนอยู่เหนือ ลาภ ยศ และสรรเสริญ แต่ถ้าได้มาแล้วกลับตกเป็นทาสของมัน เขาก็จะมีแต่ความเศร้าโศกเป็นเบื้องหน้า ต้องหยั่งลงสู่ทุกข์ มีทุกข์เป็นเบื้องหน้าอย่างแน่นอน เพราะสิ่งนี้พระพุทธเจ้าผู้มีพระปัญญาอันยอดเยี่ยมได้ตรัสบอกไว้แล้วว่า “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา อนิจฺโจ ทุกฺโข วิปริณามธมฺโม” ใครไปฝืนกระแสอันนี้เข้าก็เท่ากับฝืนกระแสแห่งสัจจะ ย่อมต้องเดือดร้อนเองเศร้าหมองเอง ทุกข์ทรมานเอง
บางคนเก็บเอาเรื่องที่ล่วงแล้วนานปีมาเศร้าโศกทรมานใจ ความจริงอดีตก็ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของอดีต มันไม่กลับฟื้นคืนชีพมาอีกแล้ว อย่าว่าแต่นานปีเลย แม้เพียงแต่ชั่วโมงเดียวที่ล่วงแล้วก็ถอยหลังไม่ได้ อดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขอะไรไม่ได้เลย เมื่อมันล่วงไปแล้วก็ปล่อยให้มันล่วงไปเถิด อย่าไปรื้อฟื้นมันขึ้นมาอีกเลย
บางคนเหนี่ยวรั้งเอาเรื่องอนาคตมากังวลเศร้าหมอง กลัวว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้จนไม่มีแก่จิตแก่ใจจะทำอะไรในปัจจุบันให้จริงจัง เต็มเม็ดเต็มหน่วย ได้แต่ท้อแท้ อ่อนแอ เพราะความหวาดกลัวเป็นเครื่องบั่นทอนกำลังใจ
จงให้กำลังใจแก่ตนเองเสมอๆ ว่า “จงทำปัจจุบันให้ดีเถิด อนาคตจะดีเอง” หรือ “อนาคตจะเป็นอย่างไรก็ช่างมันเถิด ฉันทำปัจจุบันดีที่สุดแล้ว” เมื่อเป็นดังนี้อารมณ์หรือจิตใจก็อยู่เฉพาะปัจจุบัน ความเศร้าโศกไม่มี ความวิตกหมกมุ่นก็ไม่มี เพราะ ความกังวลไม่มี
นี่แหละคือที่พึ่งอันเกษมของดวงจิต หาใช่อื่นไม่ (อกิญฺจนํ อนาทานํ เอตํ ทีปํอนาปรํ) เมื่อจิตได้ที่พึ่งอันเกษมอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก จิตไม่โศกนั้นเป็นมงคลอันสูงสุดข้อหนึ่ง
.............................................................................
ผู้จัดการออนไลน์ 26 ตุลาคม 2547 15:29 น.
http://www.manager.co.th/Dhamma/
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)